บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร


บุหรี่ไฟฟ้า

ผลิตภัณฑ์ประเภทยาสูบ มีอยู่ในสังคมของเรามานานแล้ว เมื่อก่อนอาจจะเป็นการใช้ภูมิปัญญาในการผลิต ต่อมาก็มีพัฒนากันอย่างกว้างขวางจนเกิดผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่มวน และกระทั่งมีบุหรี่ไฟฟ้า แล้วบุหรี่ไฟฟ้ามีที่มาอย่างไร วันนี้มาดูกันเลย

บุหรี่ไฟฟ้า คือ อุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ ซึ่งจะไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ  นิโคติน โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน  และสารแต่งกลิ่นและรส

บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีขนาดและรูปทรงที่หลากหลาย บางทีใกล้เคียงกับบุหรี่มวนทั่วไป บางทีคล้ายซิการ์ หรือบางทีมีลักษณะคล้ายปากกา เป็นต้น บุหรี่ไฟฟ้าจะใช้พลังงานแบตเตอรี่ให้ความร้อน ซึ่งจะทำให้นิโคตินเหลวที่ถูกสกัดมาจากใบยาสูบที่อยู่ในรูปแบบของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเกิดการระเหย และผู้ใช้ก็สูบไอระเหยนั้นเข้าไป ช่วยให้ผู้สูบยังคงได้รับสารนิโคติน (เรียกว่า Vape) จึงช่วยลดความเสี่ยงในการรับสารพิษเพราะไม่มีการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวนทั่วไป ในปัจจุบันผู้ใช้สามารถปรับระดับของนิโคตินในน้ำยาได้ตามความต้องการอีกด้วย

จุดกำเนิดของบุหรี่ไฟฟ้านั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 ในประเทศสหรัฐอเมริกา จดชื่อทางสิทธิบัตรว่า “Smokeless non-tobacco cigarette” โดย Herbert A. Gilbert ซึ่งอธิบายไว้ว่า สิ่งประดิษฐ์นี้ทำการแทนที่การเผาใบยาและกระดาษ ด้วยความร้อน ความชุ่มชื้น และกลิ่นไอในอากาศ อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นของบุหรี่ไฟฟ้าในครั้งนั้นยังไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากยังไม่มีสารนิโคตินในตัวอุปกรณ์ จึงยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการนิโคตินของผู้สูบบุหรี่ได้

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2546 Hon Lik เภสัชกรชาวจีน ประดิษฐ์บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของบิดา โดย Hon Lik อธิบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการสูบนิโคตินที่สะอาดและปลอดภัยกว่า และได้วางขายในประเทศจีนเป็นประเทศแรกในปีถัดไป ตามด้วยประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2549 – 2550

ในปัจจุบันมีมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง โดยจะมีมาตรการสำหรับควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป และมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงเลือกใช้มาตรการการแบนอย่างเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตามก็มีบางประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ให้การสนับสนุนนักวิจัยในการศึกษาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความพยายามขอให้ภาครัฐพิจารณายกเลิกการแบนแบบเบ็ดเสร็จ และหันมาควบคุมด้วยมาตรการที่เหมาะสมเหมือนกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ายังคงมีผู้สูบบุหรี่ที่ยังต้องการสูบบุหรี่ต่อไป ผู้ที่ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ และผู้ที่ต้องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ กลุ่มคนเหล่านี้จึงควรได้รับสิทธิ์ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *